ข่าวเด่น » สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย จัดสัมมนาสัญจร “มองต่างมุม มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย จัดสัมมนาสัญจร “มองต่างมุม มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์”

7 ธันวาคม 2018
865   0

Social Share

สมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย จัดสัมมนาสัญจร “มองต่างมุม มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” พบปัญหาการเอื้อผลประโยชน์ที่นำไปสู่การตีความทางกฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม สู่นำมาซึ่งเงินสินบนรางวัล และขาดความชัดเจนด้านกฎหมายของไทยที่ไม่มีมาตรฐานเดียวกัน

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA ได้จัดสัมมนาสัญจร “มองต่างมุม มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” โดยมี นายแพทย์วรพงษ์ สำราญทิวาวัลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ นางสาวณเพ็ญพัฒน์ จำเนียร ประธานชมรมทนายความจังหวัดเชียงใหม่ และนายชัยวัฒน์ กลั่นนาค ตัวแทนจากผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่ เดินทางมาร่วมด้วย

เพื่อพบปะผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้ค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายในจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับกฎหมายและมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เกี่ยวข้อง สร้างความเข้าใจร่วมกัน และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ ณ ห้องธาราทอง โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ เชียงใหม่

นายธนากร คุปตจิตต์ นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย หรือ TABBA กล่าวว่า “กิจกรรมสัมมนาสัญจรในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความเห็นหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ แล้วนำมาปรึกษาหารือกันเพื่อเรียนรู้ เข้าใจกฎหมายที่มีอยู่ และสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่สมาคมฯ ได้เลือกจังหวัดเชียงใหม่นำร่องเป็นที่แรก เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ และมิอาจปฏิเสธได้ว่าการดื่มและซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยผู้บริโภคและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลรื่นเริงที่กำลังจะมาถึงนั้นมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในพื้นที่และบรรยากาศของการท่องเที่ยว

ในส่วนของเนื้อหาที่นำมาแลกเปลี่ยนเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 อาทิ มาตรา 32 การโฆษณา ซึ่งยังมีความคลุมเครือในบางประเด็น และพึ่งพิงการใช้ดุลยพินิจของเจ้าพนักงานมากเกินไป จึงขาดแนวทางในการปฏิบัติที่แน่นอน ทั้งยังเอื้อให้เกิดผลประโยชน์ที่อาจสร้างแรงจูงใจทางอ้อมให้เกิดการตีความอย่างไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากเงินสินบนรางวัล

ในขณะเดียวกันภาคประชาชนได้ให้ความเห็นว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวมีเนื้อหารสาระที่ดี แต่ขาดความชัดเจนในการปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน สร้างความสับสนให้กับประชาชนและผู้ประกอบการ และส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาคธุรกิจและท่องเที่ยว ทั้งนี้ยังมีความเห็นที่จะให้เกิดความยุติในประเด็นความขัดแย้งของการตีความตามกฎหมาย ก็ควรที่จะได้มีองค์กรกฎหมายคนกลางมาให้แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการโฆษณา

เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาความคลุมเครือและไม่ชัดเจนได้ นอกจากนี้ สมาคมฯ มองว่าการพิจารณาเวลาการขายที่เหมาะสมโดยไม่เป็นอุปสรรคสำหรับเมืองท่องเที่ยวในบางพื้นที่ อาทิ เชียงใหม่ ภายใต้การควบคุมและความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจที่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เป็นธรรมและชัดเจน จะเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการเติบโตของภาคธุรกิจอีกด้วย” ดังนั้น การจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อต้องการสร้างความเข้าใจและมาตรฐานการดำเนินงานของผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจให้สอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่ และมีความรับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

นอกจากนี้ สมาคมฯ อยากขอให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาประเด็นดังกล่าว เพื่อปรับปรุงพ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้มีความชัดเจน ทันสมัย เหมาะสมกับสถานการณ์ สอดคล้องกับหลักสากล พร้อมทั้งร่วมกันแสวงหาความกระจ่างชัดในการตีความที่ถูกต้องตามเจตนารมย์ของกฎหมาย และขอให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม พร้อมให้ความรู้ต่อสังคมอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับโทษของการดื่มอย่างเป็นอันตราย ที่จะช่วยควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้อย่างครอบคลุมต่อไป

ด้าน นายแพทย์วรพงษ์ สำราญทิวาวัลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ ร่วมให้ความเห็นในการสัมมนาครั้งนี้ว่า “แอลกอฮอล์ถือเป็นอาหารอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่กับสังคมมานาน จะกำจัดออกไปจากสังคม 100% คงเป็นไปได้ยาก การทำให้คนในสังคมมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องผลกระทบจากการดื่มหากเลือกที่จะดื่ม หรือเมื่อไรที่ไม่ควรดื่มเลยนั้น เชื่อว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพในระยะยาว ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายขององค์การอนามัยโลก ในการลดจำนวนการดื่มอย่างเป็นอันตราย ซึ่งหมายถึงเมาแล้วขับ เยาวชนดื่มก่อนวัยอันควร ที่ร้อยละ 10 ภายในปี พ.ศ. 2568”

“และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงประเด็น รวมถึงไม่สร้างภาระให้กับผู้ประกอบการร้านค้า ภาครัฐจึงควรรับฟังความคิดเห็นของภาคธุรกิจและประชาชน เพื่อสร้างมาตรฐานและความเข้าใจร่วมกัน และส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบัน