บันเทิง-กีฬา » อาการ “ปวดส้นเท้า” ในนักวิ่ง

อาการ “ปวดส้นเท้า” ในนักวิ่ง

26 ธันวาคม 2018
2486   0

Social Share


อาการปวดส้นเท้าหรือรองช้ำ เป็นสาเหตุของอาการปวดบริเวณเท้าที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการอักเสบหรือความเสื่อมของพังผืดใต้ฝ่าเท้า พบมากในคนที่มีอายุระหว่าง 40-60 ปี และในนักวิ่งซึ่งเกิดการกระแทกของเท้าซ้ำๆ อาการสำคัญคือ ปวดบริเวณใต้ส้นเท้า บางคนอาจปวดกลางฝ่าเท้า ปวดมากหลังตื่นนอน หรือหลังจากนั่งพักนานๆ แล้วลุกขึ้นเดิน ปัจจัยเสี่ยงคือ คนที่มีน้ำหนักตัวมาก อุ้งเท้าสูง (Higharch) เอ็นร้อยหวายตึง และคนที่วิ่งลงน้ำหนักด้านในฝ่าเท้า (Over pronation) อาการปวดอาจเป็นชั่วคราวเพียงไม่กี่สัปดาห์ ในขณะที่บางรายอาจมีอาการเรื้อรังหลายเดือนหรือกลับเป็นซ้ำบ่อยๆ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยกระตุ้น

วิธีการรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองคือ
1.พักจากการวิ่ง หลีกเลี่ยงการยืนหรือเดินเป็นระยะเวลานาน
2.ยืดพังผืดใต้ฝ่าเท้าโดยการใช้มือดันนิ้วเท้าให้กระดกขึ้นจนรู้สึกตึงที่ใต้ฝ่าเท้า ค้างไว้ 20-30 วินาที 3-4 รอบ ทุกเช้าตอนตื่นนอน และหลังจากนั่งพักนานๆ
3.ยืดเอ็นร้อยหวายโดยการหันหน้าเข้ากำแพง ใช้มือ 2 ข้างยันกำแพงไว้ ก้าวขาข้างที่ต้องการยืดไปด้านหลังเข่าเหยียดตรง ส้นเท้าติดพื้น งอเข่าขาอีกข้างที่อยู่ข้างหน้า ค่อยๆ โน้มตัวเข้าหากำแพงจนรู้สึกตึงที่บริเวณน่องและเอ็นร้อยหวาย ค้างไว้ 20-30 วินาที ทำซ้ำ 3-4 รอบต่อวัน
4.ใช้นิ้วเท้าขยุ้มผ้าหรือหยิบสิ่งของชิ้นเล็กๆ ที่อยู่บนพื้น เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในเท้า ทำ 10-15 ครั้ง วันละ 3-4 รอบ เมื่อกล้ามเนื้อในเท้าแข็งแรงจะช่วยรองรับแรงกระแทกจากการเดินและวิ่งได้
5.ใช้แผ่นรองบริเวณส้นเท้า หรือแผ่นรองในรองเท้าที่มีลักษณะนุ่มเพื่อช่วยลดแรงกดที่ฝ่าเท้าขณะที่ใส่รองเท้าเดินหรือวิ่ง
6.ลดน้ำหนัก การลดน้ำหนักจะช่วยลดแรงกระแทกบริเวณเท้าขณะที่เดินและวิ่งได้
หากปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้น แล้วอาการไม่ดีขึ้นหรือเป็นเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินหาสาเหตุ เช่น การเอ็กซเรย์เพื่อหากระดูกงอกที่ฝ่าเท้า และใช้วิธีการรักษาอย่างอื่นเพิ่มเติม เช่น การรักษาด้วยเครื่องมือ Focus shockwave ช่วยลดอาการปวด และกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการซ่อมแซมการบาดเจ็บเรื้อรังของพังผืดใต้ฝ่าเท้า สุดท้ายแล้วหากรักษาด้วยวิธีข้างต้นแล้วไม่ดีขึ้นแพทย์อาจพิจารณาใช้การฉีดยาต้านการอักเสบเฉพาะที่เพื่อลดอาการปวดและการอักเสบของพังผืดใต้ฝ่าเท้า มีส่วนน้อยที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดครับ
.
ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.กฤตเมธ เดชเกรียงไกรกุล
แพทย์ผู้ชำนาญการเฉพาะทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์เวชศาสตร์การกีฬา โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม