ข่าวสังคม » มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งติดตามหลังมีการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งติดตามหลังมีการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

5 ตุลาคม 2019
1017   0

Social Share

จากกรณีที่ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้มีการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาลของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นจังหวัดนำร่อง 1 ใน 3 ของประเทศ ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ , จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดโคราช ซึ่งหลังจากการถ่ายโอนมาได้ระยะหนึ่งทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล

จึงได้มีการติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาล และได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในการดำเนินงานเก็บข้อมูล ติดตามประเมินผลการถ่ายโอนเพื่อศึกษาติดตามประเมินความพึงพอใจของประชาชน ในการบริหารจัดการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาล รวมถึงผลระบบการบริหารจัดการการใช้งบประมาณการควบคุมการกำกับดูแลการปฏิบัติตามภารกิจการถ่ายโอนด้านน้ำบาดาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และมาตรฐานการจัดบริการสาธารณะด้านน้ำบาดาล

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปสัมภาษณ์ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรศักดิ์ นุ่มมีศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เกี่ยวกับความคืบหน้าในการติดตามประเมินผลการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบาดาลไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแผนปฎิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2551 (ฉบับที่ 2) 5 ภารกิจ 8 กิจกรรม ตามวิสัยทัศน์ “น้ำบาดาลเพื่อความสุขของประชาชน”มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ติดตาม วิเคราะห์ประมวลผลการถ่ายโอนภารกิจด้านน้ำบันดาลให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรศักดิ์ นุ่มมีศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เปิดเผยว่าจุดเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดขึ้นจากการที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ถ่ายโอนภารกิจ เช่น การขออนุญาตการขุดเจาะ การขออนุญาตใช้น้ำ รวมไปถึงการเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้น้ำบาดาลมาที่องค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น โดยที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดนำร่อง 1 ใน 3 ของประเทศ และได้มีการถ่ายโอนมาแล้วประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ , จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดโคราช ซึ่งหลังจากการถ่ายโอนมาได้ระยะหนึ่งทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จึงต้องการประเมินว่าสิ่งที่ได้มีการถ่ายโอนมานั้นทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถทำได้ดีแค่ไหน รวมไปถึงทางผู้ใช้น้ำได้รับการบริการที่ดีแค่ไหน มีความพึงพอใจมากน้อยเพียงใด และยังมีปัญหาอุปสรรคด้านใดบ้าง ที่จะให้ทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สามารถเข้าไปช่วยแก้ไข ปรับปรุงได้ ดังนั้นทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จึงได้เข้ามาช่วยเหลือในการเก็บข้อมูลในส่วนนี้

ซึ่งในเบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ได้มีการนำนักศึกษาไปลงพื้นที่เก็บข้อมูล รวมไปถึงอาจารย์และนักวิจัย โดยกำหนดกลุ่มกระจายทั่วพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยในส่วนของชาวบ้านและผู้ใช้น้ำก็ได้ให้ขอมูลที่เป็นประโยชน์ อาทิ ความต้องการในการติดต่อสื่อสารกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีความต้องการอะไรบ้าง ที่ทำให้การบริการดียิ่งขึ้น และในเรื่องของช่างขุดเจาะน้ำบาดาลซึ่งก็มีข้อเสนอแนะว่าควรจะต้องทำอะไรบ้าง รวมไปถึงราคาในการขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งปกติชาวบ้านจะไม่รู้ราคาเมื่อทางช่างเรียกราคาไปชาวบ้านก็อาจจะจ่ายตามนั้น แต่โดยความจริงแล้วสามารถตรวจสอบฐานข้อมูลได้ว่าพื้นที่ดังกล่าวนั้นมีราคาเท่าไหร่ ที่ทำให้ผู้ใช้น้ำสามารถกำหนดค่าใช้จ่ายได้ล่วงหน้า

สำหรับการดำเนินการของโครงการนั้นมีระยะเวลา 6 เดือนด้วยกัน หรือประมาณ 180 วัน และโครงการจะสิ้นสุดในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562 โดยภายหลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้ว จะมีการเอาข้อมูลที่สะท้อนกลับไปเอามาปรับปรุงแก้ไขซึ่งในตอนนั้นทางมหาวิทยาลัยก็คงจะมีโอกาสไปช่วยในการยกระดับในการใช้น้ำบาดาล ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาต การเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งในปัจจุบันการใช้น้ำบาดาลของจังหวัดเชียงใหม่ก็มีจำนวนเยอะมากก็พบว่ามีเกินครึ่งที่มีการลงทะเบียนที่ไม่ถูกต้อง โดยทางกรมทรัพยากรน้ำบาดาลก็ต้องการข้อมูลเหล่านี้เพื่อนำมารายงานผลให้ถูกต้อง เพื่อให้เกิดประโยชน์ในภาพรวม และได้เห็นโดยรวมของพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เห็นประโยชน์ของทรัพยากรน้ำบาดาล และมีข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน