ข่าวเด่น » ไนท์ซาฟารีออกชี้แจงข่าวบิดเบือนสัตว์ตายเพียง4ตัวไม่ใช่13ตัว

ไนท์ซาฟารีออกชี้แจงข่าวบิดเบือนสัตว์ตายเพียง4ตัวไม่ใช่13ตัว

15 มกราคม 2024
353   0

Social Share

สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้แถลงชี้แจงการตายของสัตว์ในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี หลังจากมีจำนวนตัวเลขสัตว์บิดเบือนจากความเป็นจริง ยืนยันไม่ได้ตายจำนวน 13 ตัว แต่ตายเพียง 4 ตัว เพราะหมดอายุขัย

เวลา 14.00 น.วันที่ 15 ม.ค. 67 นายกฤษดา ลาพิมล รองผู้อำนวยการสำนักงานพิงคนคร และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร เป็นประธานการแถลงข่าวชี้แจงการตายของสัตว์ในเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี หลังจากมีจำนวนตัวเลขสัตว์บิดเบือนจากความเป็นจริง โดยมี นางสาวฐิติรัตน์ ต๊ะวันวงศ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร และผู้อำนวยการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี พร้อมด้วย น.สพ.สุเมธ กมลนรนาถ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสัตว์ , นายชาตรี คูหเทพารักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการสัตว์ และ น.สพ.ตุลยวรรธ สุทธิแพทย์ หัวหน้างานอนุรักษ์และวิจัยเป็นผู้ร่วมแถลงข่าว ณ อาคารวารีกุญชร สำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

 

นายกฤษดา ลาพิมล รองผู้อำนวยการสำนักงานพิงคนคร และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานกลาง ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาพิงคนคร กล่าวว่า ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวการตายของสัตว์ในเชียงใหม่ในท์ซาฟารี สำนักงานพัฒนาพิงคนครได้ดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดและข้อเท็จจริงแล้ว โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้ สำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นหน่วยงานที่เปิดให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ต้องมีการนำสัตว์เพื่อเข้ามาแสดง ซึ่งสัตว์ที่นำมาแสดงในช่วงแรกๆ ปัจจุบันสัตว์กลุ่มนี้อยู่ในวัยชรา โดยสำนักงานฯ ดูแลสัตว์ในวัยชราอย่างดี และอยู่จนสิ้นอายุขัยของสัตว์แต่ละประเภทนั้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกสวนสัตว์ต้องเจอและไม่ใช่การตายปริศนาแต่อย่างใด ทั้งนี้ สำนักงานได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาสาเหตุการตายของสัตว์เบื้องต้น และเมื่อทราบถึงสาเหตุก็ได้มีการรายงานให้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพิงคนครทราบ และการดำเนินงานของสำนักงานฯ ได้มีมาตรฐานการจัดการสวนสัตว์และเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) ตามมาตรการ WAZA World Association of Zoo and Aquariums) และ SEAZA (South East Asian Zoo Association)

โดยจากการตรวจสอบการตายของสัตว์เดือนธันวาคม พ.ศ. 2566 สำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี มีสัตว์ตายจำนวน 4 ตัว เป็นค้างห้าสี , หมาจิ้งจอก , หมาจิ้งจอกเฟนเน็คฟ็อกซ์ และแมวดาว ชนิดละ 1 ตัว มิได้มีจำนวนการตายถึง 13 ตัว ตามที่เป็นข่าว และการเสียชีวิตก็เนื่องจากเป็นไปตามอายุขัยของสัตว์ ซึ่งสำนักงานมีกระบวนการชันสูตรซาก โดยการผ่าชันสูตรซากสัตว์ทุกตัว มีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและอวัยวะส่งตรวจต่อไปยังห้องปฏิบัติการ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และกรมปศุสัตว์ สำนักงานจะรายงานสัตว์เกิดสัตว์ตายต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประจำทุกเดือน ยกเว้นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทเสือโคร่งที่ต้องรายงานภายใน 24 ชั่วโมงซึ่งเป็นไปตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และเนื่องจากสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีพื้นที่ส่วนใหญ่ที่เป็นป่าค่อนข้างสมบูรณ์ ในช่วงฤดูฝนมักพบสัตว์เลื้อยคลานประเภทงูจำนวนมาก และเมื่อทำการตรวจสอบจากจำนวนสัตว์ประจำวัน พบว่ามีลีเมอร์ สูญหาย เมื่อสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฎมีงูเหลือมขนาดใหญ่ที่เข้าไปในส่วนแสดง สำนักงานจึงได้เร่งดำเนินการจัดทำมาตรการในการป้องกัน ซึ่งเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2564 และปัจจุบันไม่พบปัญหานี้

สำหรับการตรวจสุขภาพสัตว์ที่มีจำนวนกว่า 1,000 ตัว รวม 130 ชนิด ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี นั้น ก็มีการทยอยตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องเข้าใจด้วยว่าการตรวจสัตว์ป่าจะตรวจยากกว่าสุนัขและแมว ที่เป็นสัตว์เลี้ยง การวางยาสลับ ขั้นตอนต่างๆ ที่จะจับและนำมาตรวจมีมากกว่า และต้องระวังอย่างมาก เพราะสัตว์บางตัวมีขนาดเล็กเร่งรีบไม่ได้จะเกิดอันตรายต่อชีวิตสัตว์ ซึ่งยืนยันว่ามีการออกตรวจอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสัตว์ที่อยู่ในการรักษาจากอาการเจ็บป่วยประมาณ 10 ตัว แต่ไม่ได้ป่วยร้ายแรง นอกจากนี้สถานที่เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี เป็นพื้นที่ธรรมชาติ 800 กว่าไร่ ในปี 64 ป็เคยมีงูเหลือมเข้ามากินลีเมอร์ไป 2 ตัว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็มีการตรวจสอบแล้ว และก็มีการป้องกันตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา แต่ยืนยันว่าเหตุการณ์ดังกล่าวก็เป็นเหตุสุดวิสัย เพราะสภาพแวดล้อมเป็นพื้นที่ธรรมชาติ

ทั้งนี้ เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีมีความสำเร็จและความภาคภูมิใจในการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์วิจัยการผสมเทียมและเทคโนโลยีชีวภาพเชียงใหม่ เลือกทำการวิจัยทางด้านการรีดน้ำเชื้อ การตรวจคุณภาพน้ำเชื้อ การทำน้ำเชื้อแช่แข็งและการผสมเทียม ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่นิยมใช้ทั่วโลก มีความปลอดภัยสูงต่อสัตว์และสามารถพัฒนา สายพันธุ์ให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลในธรรมชาติ ซึ่งนำไปสู่การดำเนินโครงการผสมเทียม (AI-Artificial Insemination) สัตว์ป่าเพื่อการอนุรักษ์ที่เป็นโครงการต่อเนื่องในการวิจัยและนุรัษ์สายพันธุสัตว์ป่าหายากของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี และเพื่อช่วยอนุรักษ์พันธุ์