เชียงราย ทดสอบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน Cell Broadcast ครั้งที่ 1 ระดับเล็ก พร้อมเดินหน้าทดสอบต่อเนื่อง ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ดำเนินการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ระดับชาติ (อาคาร) โดยจัดประชุม War Room ผ่านระบบประชุมทางไกลจากส่วนกลางสู่ศาลากลางจังหวัดนำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, สุพรรณบุรี, อุบลราชธานี, สงขลา และศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ 80 พรรษา
AIS ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดทดสอบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านระบบ Cell Broadcast ครั้งที่ 1 ในระดับเล็ก โดยดำเนินการภายในอาคารราชการ 5 แห่ง ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย, อุบลราชธานี, สุพรรณบุรี, สงขลา และอาคารศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ กรุงเทพมหานคร ซึ่งผลการทดสอบบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ตอกย้ำความพร้อมของระบบในการรองรับการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินอย่างแม่นยำและรวดเร็ว
การทดสอบในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนทั่วประเทศ โดยมีกำหนดส่งข้อความทดสอบในระดับที่ใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. ทดสอบระดับกลาง 5 พื้นที่ ประกอบด้วย อ.เมืองลำปาง, อ.เมืองนครสวรรค์, อ.เมืองนครราชสีมา, อ.เมืองสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพฯ และวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. ทดสอบระดับใหญ่ 5 พื้นที่ ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่, จ.อุดรธานี, จ.พระนครศรีอยุธยา, จ.นครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร
โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ จะได้รับข้อความที่ใช้ในการทดสอบทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ระบุว่า “ทดสอบการแจ้งเตือน Cell Broadcast จากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โปรดอย่าตื่นตระหนก” “This is a test message from Department of Disaster Prevention and Mitigation (DDPM). No action required” ซึ่งภายหลังจากการทดสอบ ในแต่ละระดับ จะมีประเมินประสิทธิภาพการแจ้งเตือนภัยเพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และพร้อมใช้งานในสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที
การทดสอบใช้ระยะเวลาแจ้งเตือนประมาณ 10 นาที และส่งเพียง 1 ครั้ง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและทดสอบประสิทธิภาพระบบเตือนภัยให้สามารถใช้งานได้อย่างรวดเร็วในสถานการณ์จริง
นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เปิดเผยว่าโทรศัพท์มือถือหากไม่สามาถเก็บหรือเซฟข้อมูลเอาไว้ได้ทำใหข้อมูลหายไป ซึ่งสิ่งนี้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะต้องแจ้งไปยังกรม ปภ.ว่าต้องการสิ่งใดเพิ่ม โดยเฉพาะโทรศัพท์รุ่นต่ำๆ เพื่อให้เข้าถึงพี่น้องประชาชนได้อย่างทั่วถึง หรือให้ข้อความแจ้งเตือนได้ค้างอยู่ในระบบเพื่อให้สามารถเปิดดูได้ เพราะบางคนอาจจะไม่มีโทรศัพท์ที่แจ้งเตือนติดตัวได้อยู่ตลอดเวลาซึ่งจะทำให้จังหวะการดูไม่ทัน ส่วนเรื่องการแจ้งเตือนคือตั้งเวลา 13.00 น.ตรงต่อไป ระบบที่มีอยู่ในวันนี้ก็ทำให้ทราบถึงประสิทธิภาพและจุดที่ไม่มีประสิทธิภาพดังกล่าว