ข่าวเด่น » เชียงราย ภาคประชาชนร่วมตัวเคลื่อนไหวเร่งรัดจัดการสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก

เชียงราย ภาคประชาชนร่วมตัวเคลื่อนไหวเร่งรัดจัดการสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก

11 พฤษภาคม 2025
38   0

Social Share

เชียงราย ภาคประชาชนร่วมตัวเคลื่อนไหวเร่งรัดจัดการสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก

เวลา 10.00 น.วันที่ 5 พ.ค.68 ที่ลานใต้สะพาน ขัวพญามังราย เขตเทศบาลนครเชียงราย กลุ่มศิลปินขัวศิลปะ ประมาณ 30 คน ได้รวมตัวกันเพื่อจัดกิจกรรม WORKSHOPวาดภาพแม่น้ำกก ที่ไม่เหมือนเดิม หลังพบสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก ทำให้ประชาชนชาวเชียงรายไม่กล้าใช้น้ำจากแม่น้ำกก มาอุปโภคบริโภค โดยต่างวาดภาพโดยใช้เทคนิคต่างๆ เฉพาะตัว เพื่อสื่อสารให้คนภายนอกได้เห็นแม่น้ำกกที่เปลี่ยนไปผ่านผลงานศิลปะ

โดยมีคำประกาศ ศิลปินเชียงราย ภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อม และประชาชน กรณีแม่น้ำกกปนเปื้อนสารพิษ ว่า

1.เรียกร้อง ให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศ ดำเนินการตรวจสอบ ค้นหาสาเหตุ และแหล่งที่มาของการปนเปื้อนอย่างโปร่งใสและเร่งด่วน พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
2.เรียกร้อง ให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อผู้ที่ก่อให้เกิดมลพิษ และกำหนดมาตรการป้องกันระยะยาวเพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย ทั้งในพื้นที่ต้นน้ำและตลอดลำน้ำกก
3. เรียกร้อง ให้มีการฟื้นฟูแม่น้ำกกอย่างเร่งด่วนและยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ ศิลปิน และผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การฟื้นฟูตอบสนองต่อความต้องการและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง
4. พวกเรา ศิลปิน ภาคประชาสังคม และประชาชนชาวเชียงราย ขอประกาศว่าจะร่วมกันทำทุกวิถีทาง เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เราจะใช้ความรู้ ความสามารถ สรรพกำลัง และพลังแห่งศิลปะ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ รณรงค์ และขับเคลื่อนให้แม่น้ำกกกลับมามีชีวิต ไหลใสสะอาดอีกครั้ง
5. เราขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวเชียงรายและคนไทยทั้งประเทศ ร่วมกันเป็นหูเป็นตา ปกป้อง ดูแล และฟื้นฟูแม่น้ำกก เพื่อธำรงไว้ซึ่งระบบนิเวศ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมอันดีงามของเชียงรายให้กลับคืนมาอย่างสมบูรณ์

นายไกรทอง เหง้าน้อย จากสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า วันนี้เป็นงานศิลปะ ในบทบาทของศิลปินเชียงราย ที่มีบทบาทสำคัญที่จะเยียวยาจิตใจและสร้างสรรค์งาน วันนี้น้ำในแม่น้ำกก ที่ปนเปื้อนสารพิษ เป็นแม่น้ำที่กำลังหายใจแบบโรยริน ซึ่งมันถึงเวลาที่ทุกคน ทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงราย ออกมาร่วมกันปกป้องแม่น้ำสายนี้ร่วมกัน โดยศิลปินจากขัวศิลปะเชียงราย และภาคประชาสังคมที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกคนต่างให้ความสนใจแม่น้ำกก ว่าพวกเราจะอยู่ในสถานการณ์นี้ยังไง และจะรอดจากมันได้อย่างไร การจัดงานในครั้งนี้เป็นการส่งเสียงออกไปว่าพวกเราได้รับความเดือดร้อน อยากให้เมืองนี้วันนี้ถูกทำร้ายจากสารพิษ และในอนาคตภัยพิบัติกำลังจะเราจะเตรียมพร้อมยังไง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะแม่น้ำสายนี้ทำให้ผู้คนเกือบทั้งจังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบกันทั้งหมด ไม่ว่าเศรษฐกิจสังคม ระบบนิเวศที่เสื่อมไป ปลาที่เราเคยกินได้ก็ไม่กล้ากิน น้ำที่เราเคยบริโภคกำลังจะฆ่าเรา จากสิ่งที่เราไม่ได้ทำ เราต้องการเรียกร้องให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง

“งานศิลปะที่เกิดขึ้นในวันนี้เพื่อเป็นการบอกเล่าโดยใช้ศิลปะ เพื่อให้เกิดกลไกลในการจัดการปัญหา แม้ว่ามันจะเป็นปัญหาข้ามแดนก็ตามแต่เชียงรายก็เคยผ่านปัญหาอุปสรรค์ใหญ่ๆมาได้ อย่างเช่นถ้ำหลวงเพราะทุกคนร่วมไม้ร่วมมือกัน ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้ง เมื่อเมืองเกิดภัยพิบัติคนเชียงรายคนทั่วประเทศก็จะเข้ามาช่วยเหลือกันอีกครั้งเพื่อให้มีกลไกด้านความรู้ การบริหารจัดการ เพื่อไปสู้ส่วนที่เกี่ยวข้องที่จะต้องจัดการโดยใช้ทุกวิถีทางเพื่อจะฟื้นเมืองจากภัยพิบัติให้ได้ วันนี้ศิลปะจะบอกเราว่าตอนนี้แม่น้ำเป็นยังไง ซึ่งแม่น้ำมีชีวิต จะต้องฟื้นมามีชีวิตอีกครั้ง” นายไกรทอง กล่าว

นายนิพรธ์ ใจนนท์ถี นายกสมาคมขัวศิลปะ กล่าวว่า วัตประสงค์ในการจัดงานในครั้งนี้คือเราอยากจะวาดรูปที่เป็นภาพแม่น้ำกกในจินตนาการของเรา อยากให้คนเชียงรายใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อเราทุกวันนี้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องตระหนัก ทำให้เกิดการจัดงานวาดรูปในวันนี้เพื่อต้องการให้แม่น้ำกกกลับมาเป็นเหมือนเดิม โดยหลังจากวาดรูปเสร็จแล้วจะนำไปจัดแสดงที่หอศิลปะร่วมสมัยเมืองเชียงราย

จากนั้นในช่วงบ่ายที่ลานกิจกรรมสะพานริมกก-เวียงเหนือรวมใจ ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย ได้มีกิจกรรม ฮอมปอยนิทรรศการบทสนทนา “ธาราไร้พรมแดน:เสียงจากแม่น้ำกกและชุมชน” โดยนางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวเปิดงานว่า แม่น้ำกกคือหัวใจของคนเชียงรายและเชียงใหม่ จึงควรได้รับการอนุรักษ์รักษาไว้และแม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำแห่งอารยะธรรมเพราะอยู่ร่วมกันหลากหลายชาติพันธุ์ โดยทุกๆปีแม่น้ำกกใส แต่ปีนี้ขุ่นข้น เมื่อทราบสาเหตุจากการบอกเล่าของชาวไทใหญ่ที่ต้นน้ำว่าถูกทำลายจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวและการทำเหมืองที่ไม่มีมาตรฐาน โดยพบสารพิษปนเปื้อนโดยเฉพาะสารหนู

นางเตือนใจกล่าวว่าการแก้ปัญหาคือต้องแก้ที่ต้นเหตุ และปัญหานี้เป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งเจรจากับผู้ที่สร้างเหตุของมลพิษครั้งนี้ การจัดกิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้จะต้องจัดกันอย่างต่อเนื่องจนกว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไข

ทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดเวทีเสวนาเรื่องอนาคตแม่น้ำกกโดย นายสายยัณน์ ข้ามหนึ่ง ผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าวว่า ขณะนี้การปนเปื้อนสารหนูในแม่น้ำกก ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เราพบว่าปลาในแม่น้ำกกบางชนิดมีความผิดปกติ จากการเก็บตัวอย่าง 4 ชนิด พบว่าปลาหนัง 2 ชนิดมีความผิดปกติและติดโรค ตอนนี้เรารู้ว่าค่าต่างๆเกินมาตรฐาน หน่วยงานต่างๆต้องเข้าร่วมตรวจแล้ว กรมประมงต้องตรวจปลาในลำน้ำกก ลำน้ำสาย ลำน้ำรวก รวมทั้งน้ำอิง น้ำงาวและน้ำโขง โดยตลอดสายแม่น้ำกกจากท่าตอนมาถึงปลายน้ำมีลำน้ำสาขา 28 สาย ซึ่งอนาคตจำเป็นต้องตรวจปลาในลำน้ำสาขาเหล่านี้ด้วย ดังนั้นจึงควรมีศูนย์ตรวจอยู่ที่เชียงราย

“ควรมีการตรวจเลือดประชาชนด้วยเพื่อวิเคราะห์สารที่ตกค้าง แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มต้นตรวจเลย ขณะเดียวกันคนเชียงรายต้องรวมตัวกันให้มากๆ เพราะมิเช่นนั้น รัฐบาลก็ไม่ให้ความสนใจในปัญหานี้เท่าที่ควร โดยในวันที่ 5 มิถุนายนซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ควรนัดเจอกันหน้าศาลากลาง หากรวมตั้วกันเป็นหมื่นคน เชื่อว่ารัฐบาลคงต้องรีบแก้ปัญหา”นายสายัณน์ กล่าว

นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สส.เชียงราย พรรคประชาชน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ตนได้พาหลานไปเล่นน้ำกก ปรากฏว่าเกิดผื่นขึ้นเต็มตัว จึงได้ลงพื้นที่และนำเรื่องสารปนเปื้อนในแม่น้ำกกเข้าไปหารือในสภา ขณะนี้ประชาชนต่างได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า

“ผมผลักดันในสภาและติดตามเรื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ คณะกรรมาธิการความมั่นคงฯจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาติดตามเรื่องนี้โดยมี สส.จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม เป็นประธาน”นายชิตวัน กล่าว

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ องค์การแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีแม่น้ำไหนในประเทศไทยที่น้ำปนเปื้อนสารหนูตั้งแต่ต้นจนถึงปลายน้ำเหมือนแม่น้ำกก ดังนั้นจึงเป็นปัญหาร้ายแรงและวิกฤตของชาวเชียงราย ทุกวันนี้เขาก็ยังกำลังเปิดเหมืองเถื่อนและเปิดหน้าดิน โดยคนไทยกำลังได้รับสารพิษ การแก้ปัญหาคือยุติที่ต้นตอที่ปล่อยสารพิษ ซึ่งในหลักการระหว่างประเทศ ที่สามารถนำมาใช้ได้คือ ปฏิญญาริโอว่าด้วยสิ่งแวดล้อม 1992 เช่น No Harm Principle หลักการไม่ก่อความเสียหาย Public Participation and Access to Information การมีส่วนร่วมของประชาชนและการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งข้อชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน UNGP on Business and Human Right ที่มีหลักการป้องกัน เคารพ และเยียวยา

คนเชียงรายต้องโกรธมากกว่านี้ ออกมา เพราะแม่น้ำกกเป็นแม่น้ำของเราที่ใช้และดื่มกิน เขาทำให้แม่น้ำเราขุ่นขุ้นและเต็มไปด้วยสารโลหะหนัก รัฐบาลปล่อยให้เป็นเช่นนี้ได้อย่างไร จำเป็นต้องไปคุยกับฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นจีน พม่า หรือว้า อนาคตหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขง ต่อไปสารโลหะหนักก็ต้องไปกองตามปากแม่น้ำและที่นั่น ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งแก้ไขปัญหาด่วน

“มีน้ำแต่ใช้ไม่ได้ ไม่เคยคิดว่าจะเกิดกับชาวเชียงราย ถ้าเกิดในพม่าที่ไม่มีรัฐบาลก็พอรับได้ แต่นี่เกิดในประเทศไทยมที่มีรัฐบาล ดังนั้นวันที่ 5 มิถุนายน ของคนที่ห่วยใยแม่น้ำกกมาเจอกัน”ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ องค์การแม่น้ำนานาชาติ กล่าว

ในช่วงท้ายการเสวนาได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานแสดงความคิดเห็นโดย วรัญญา พรหมสาขา ณ สกลนคร อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย กล่าวว่า พื้นที่ ต.ริมกก ไม่ใช้ประปาภูมิภาค แต่ใช้ประปาหมู่บ้าน เราเห็นความตั้งใจของ อบต.ริมกก ที่พัฒนาให้น้ำคุณภาพดี แต่พื้นที่อื่นเกิดการตั้งคำถามว่ามีระบบอย่างไร หลายคนคิดง่ายๆว่าไม่ใช้น้ำประปาจากแม่น้ำกก แต่ใช้น้ำบาดาลแทน แต่รู้ได้อย่างไรว่าน้ำบาดาลมีคุณภาพดี ที่สำคัญคือเราไม่รู้ว่าน้ำจะท่วมอีกหรือไม่ หากน้ำท่วมด้วยปริมาณสารพิษที่เป็นอยู่มาก ความเสียหายจะแค่ไหน

นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตนเคยเป็นวัฒนธรรมกาญจนบุรี เคยเข้าไปพบชุมชนคลิตี้ซึ่งสภาพธรรมชาติของเขาได้รับสารโลหะหนักเกิดค่ามาตรฐาน จนประชาชนเกิดความพิการ แม่เด็กเกิดใหม่ก็พิการซึ่งน่ากลัวมาก แต่เชียงราย 2 ลำน้ำ ได้รับผลกระทบหมดเลยซึ่งร้ายแรงกว่านั้น อยากให้ตระหนักกันทุกคนและลุกขึ้นมา เพราะแม่น้ำทั้ง 2สายยังไหลลงแม่น้ำโขงด้วย เราต้องมีมาตรการอย่างจริงจังและมียุทธศาสตร์โดยเอาปัญหาเป็นที่ตั้งและวางแผนอย่างเป็นระบบ อยากให้ทุกองค์กรบูรณาการร่วมกัน

Cr. ณัฐวัตร ลาพิงค์