เชียงใหม่ กรมสุขภาพจิต โดยโรงพยาบาลสวนปรุง พบอัตราการฆ่าตัวตายสูง เดินหน้าขับเคลื่อนทีม HOPE Task Force ใน 4 จังหวัดนำร่อง ด้านตำรวจพื้นที่ภาค 5 พบปีละ 3 คน ฆ่าตัวตาย เกิดจากความเครียดเรื่องคดีเยอะ
วันนี้ (22 พ.ค.68) นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เป็นประธานเปิดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเสริมสร้างทักษะการตอบสนองในภาวะวิกฤตให้กับบุคลากรในและนอกสังกัดสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับ HOPE Task Force ในเขตสุขภาพที่ 1” สำหรับ บุคลากรสาธารณสุข ตำรวจ Influencer และสื่อมวลชน ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และลำพูน จำนวน 130 คน โดยมี นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้ช่วยอธิบดีกรมสุขภาพจิตและผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวรายงาน, พล.ต.ต.พงษ์นคร นครสันติภาพ ผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 5, นพ.วรินทร์เทพ เชื้อสำราญ สาธารณสุขนิเทศก์ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 1, นส.จันทร์เพ็ญ ศรีทัศน์ ผอ.ส่วนสถานพยาบาลเรือนจำจังหวัดนนทบุรี, นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ ผอ.สำนักวิชาการสุขภาพจิต, พญ.หทัยชนนี บุญเจริญ ผอ.สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์, ว่าที่ร้อยโท โฆษิต กัลยา ผอ.ศูนย์สุขภาพจิตที่ 1, นพ.นพดล บุญเฉลย ประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาสุขภาพจิตและสารเสพติด จังหวัดเชียงใหม่ ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา ริเวอร์ไซด์ เชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตของประชาชนโดยเฉพาะปัญหาการฆ่าตัวตาย ที่เพิ่มขึ้นถือว่าเป็นการสะท้อนถึงปัญหาสุขภาพจิตที่รุนแรง และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือ Hope Task Force เป็นอีกกลไกหนึ่ง ที่เป็นความร่วมมือโดยใช้จุดแข็งในการทำงานจาก 3 หน่วยงาน คือ ภาคสาธารณสุข ทีมตำรวจ และ Influencer รวมถึงสื่อมวลชน ในการช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย โดยตั้งแต่ปี 2564 ระบบ Hope ป้องกันการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายได้แล้วกว่า 828 ราย การได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้นำข้อมูลมาช่วยกันพิจารณา ร่วมสร้างกลไกป้องกัน วิเคราะห์ สังเคราะห์ ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่เป็นจุดที่ต้องนำมาพัฒนา เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการทำงานร่วมกันของทีม Hope Task Force ในระดับจังหวัดลงไปถึงพื้นที่ และสามารถขยายไปทั้งเขตสุขภาพที่ 1 ให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหวังให้ทีมได้รับการพัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาขีดความสามารถ เพิ่มสมรรถนะและทักษะด้านการช่วยเหลือผู้มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายและวิกฤตฉุกเฉินสุขภาพจิต ให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำงานร่วมกับเครือข่ายในระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
ปัญหาการฆ่าตัวตายส่งผลกระทบทำให้เกิดความสูญเสียทางสังคมและเศรษฐกิจทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน โดยเฉพาะในกลุ่มวัยทำงาน วัยรุ่น และผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เขตสุขภาพที่ 1 พบอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จติดอันดับต้น ๆ ของประเทศ กรมสุขภาพจิตเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพจิตคนไทย จึงได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 และการจัดตั้งทีมปฏิบัติการพิเศษป้องกันการฆ่าตัวตาย หรือ Hope Task Force ภายใต้ความร่วมมือกับกองปราบปราม และ Social Influencer เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีความเสี่ยงบนสื่อสังคมออนไลน์ และให้การดูแลผู้ประสบภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพจิตอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งขยายเครือข่ายความร่วมมือระดับจังหวัด เพื่อเสริมกลไกการประสานงาน ส่งต่อ และเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า การอบรมครั้งนี้ช่วยเพิ่มศักยภาพทีม Hope Task Force เขตสุขภาพที่ 1 ในการเฝ้าระวัง ประเมิน และตอบสนองภาวะวิกฤตสุขภาพจิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายทั้งในพื้นที่และผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งยังส่งเสริมความร่วมมือเชิงบูรณาการระหว่างภาคสาธารณสุข หน่วยงานด้านความมั่นคง และเครือข่ายในชุมชน ทำให้ระบบคัดกรอง ส่งต่อ และดูแลผู้มีภาวะวิกฤตสุขภาพจิต มีความครอบคลุมและยั่งยืน ผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย บุคลากรสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ตำรวจ Influencer และสื่อมวลชน จาก 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน และลำพูน รวมจำนวน 130 คน จะเป็นกำลังสำคัญให้เกิดการทำงานร่วมกันในระดับจังหวัดและเขตสุขภาพ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนต่อไป
ด้าน พล.ต.ต.พงษ์นคร นครสันติภาพ ผู้บังคับการอำนวยการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าวว่า ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ก็ให้การสนับสนุนภารกิจของกรมสุขภาพจิต เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในกลุ่มเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อได้รับแจ้งเหตุว่ามีคนเสี่ยงเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ก็จะทำการค้นหาสถานที่และนำเข้าสู่สถานที่พักอาศัย ก่อนจะให้ความช่วยเหลือตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งมี พรบ.สุขภาพจิต ที่ให้อำนาจเข้าไปช่วยเหลือในส่วนนี้ ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีสถิติการฆ่าตัวตายในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่ามีจำนวน 38 คน เฉลี่ยปีละ 3 คนขึ้นไป สาเหตุส่วนใหญ่ที่พบเกิดจากสุขภาพร่างกาย เจ็บป่วยไข้ เสียกำลังใจไม่อยากต่อสู้ เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ทางผู้บังคับบัญชาก็มีกลไกในการเข้าไปช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหา โดยรวบรวมขอมูล และทำเศรษฐกิจวิจัยเพื่อหาสาเหตุ หาแนวทางแก้ไขหลายระดับ ความเครียดในการทำงานก็อาจจะปรับย้ายไปอยู่ในสถานที่ทำงานใหม่ เพื่อลดความเครียด หากมีความเครียดจากภาวะหนี้สินก็อาจจะมีโครงการช่วยเหลือเยียวยา ก็มีขั้นตอนการปฏิบัติอยู่ ในระดับสถานีตำรวจก็มีโรงพัก ก็มีผู้กำกับช่วยเหลือ ซึ่งผู้บังคับบัญชาก็ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เพราะจะเกิดความเสียใจต่อครอบครัว และผลกระทบกับหน้าที่การงานด้วย