ชุมชนยลวิถีบ้านต่อแพ ถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น แก่เด็ก เยาวชน สืบสานสิ่งดีงามและวิถีชีวิต ต่อยอดสร้างรายได้
15 กรกฏาคม 2568 ที่ศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่นวัดต่อแพ อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน นางสาวกมลลักษณ์ บุญซื่อ วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธาน เปิดโครงการส่งเสริมการดำเนินงานชุมชน และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เป็นชุมชนยลวิถี เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่น แก่เด็ก เยาวชน และผู้ที่สนใจ สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรม สามารถสร้างทั้งคุณค่าเชิงวัฒนธรรมและมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน เช่นการทำปราสาทราชวัตร (จองพารา) โคมไฟ ตุงฉลุ และตำข่อน
ชุมชนบ้านต่อแพ มีศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่นวัดต่อแพ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยพระครูอนุกูลกัลยาณพจน์ เจ้าอาวาสวัดต่อแพ และพ่อจางณัฐพล สุวรรณสังข์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวไทใหญ่ ชุมชนบ้านต่อแพ อีกทั้ง ยังเป็นชุมชนคุณธรรมน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ขับเคลื่อนด้วยพลังบวร ที่มีศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ มีการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา และต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ด้านศิลปะ ดนตรี และการแสดง
สำหรับกิจกรรมโครงการส่งเสริมการดำเนินงานชุมชน และแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม มีการบรรยายหัวข้อ “ ศิลปและวัฒนธรรมการต้องลายไทใหญ่ ( ฉลุแผ่นสังกะสี) โดย พระครูอนุสาร นันทสิทธิ์ เจ้าอาวาสวัดประตูเมือง และการบรรยายหัวข้อ “ ศิลปในพระพุทธศาสนา “โดย พระครูอนุกูลกัลยาณพจน์ เจ้าอาวาสวัดต่อแพ มีการเรียนรู้ภูมิปัญญาซึ่งมีฐานการเรียนรู้ทั้งหมด 3 ฐาน ได้แก่ ฐานต้องลายไทใหญ่ ฐานตุง ฐานโคมไฟ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคท้องถิ่น นักเรียน และประชาชน รวมทั้งสิ้นกว่า 50 คน
นายบุญสม เมืองนำโชค ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขุนยวม เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านต่อแพ ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เป็นชุมชนคุณธรรมต้นแบบ และ ได้รับการคัดเลือก สุดยอดชุมชนต้นแบบ เที่ยวชุมชน ยลวิถี จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี 2566
พระครูอนุกูลกัลยาณพจน์ เจ้าคณะตำบลขุนยวม – แม่เงา เจ้าอาวาสวัดต่อแพ ได้เจริญพรว่า การอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชน ซึ่งสะท้อนถึงวิถีชีวิต ความเชื่อ และความคิดสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การต้องลายไทใหญ่ผสมพม่า” ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมอันประณีตที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวบ้านต่อแพ โครงการในวันนี้ จึงเป็นโอกาสอันดี ที่จะส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ ได้เรียนรู้และภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของตนเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีศูนย์การเรียนรู้ทางวัฒนธรรมชุมชนพื้นถิ่นวัดต่อแพ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ
นางสาวกมลลักษณ์ บุญซื่อ วัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เปิดเผยว่า โครงการที่จัดทำในครั้งนี้ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน เน้นส่งเสริมภูมิปัญญาที่ถ่ายทอด ได้แก่ การต้องลายแบบไทใหญ่ผสมพม่า เช่น การทำปราสาทราชวัตร (จองพารา) โคมไฟ และตุงฉลุตำข่อน ซึ่งล้วนเป็นงานหัตถศิลป์ที่สะท้อนอัตลักษณ์วัฒนธรรม สามารถสร้างทั้งคุณค่าเชิงวัฒนธรรมและมูลค่า ทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ได้เรียนรู้และสามารถสืบทอดภูมิปัญญาได้อย่างถูกต้อง เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่สร้างรายได้แก่ชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบของศูนย์เรียนรู้ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
Cr. ฉลอง หมั่นสกุล จ.แม่ฮ่องสอน