เศรษฐกิจ » ธ.ก.ส.ทุ่มงบ 50 ล้านบาทให้เกษตรกรผู้มีบัตรรายได้น้อยในแม่แจ่ม หวังลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด บุกรุกป่า แก้ปัญหาหมอกควัน

ธ.ก.ส.ทุ่มงบ 50 ล้านบาทให้เกษตรกรผู้มีบัตรรายได้น้อยในแม่แจ่ม หวังลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด บุกรุกป่า แก้ปัญหาหมอกควัน

8 กุมภาพันธ์ 2018
1278   0

Social Share

ธ.ก.ส.ภาคเหนือ จับมือร่วมกับหลายหน่วยงาน นำงบ 50 ล้านบาท ส่งเสริมเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยแม่แจ่ม หวังลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด ให้หันมาปลูกพืชผัก ผลไม้แบบเกษตรอินทรีย์แทน ลดปัญหาหมอกควัน ลดปัญหาบุกรุกป่า ฟื้นฟูสภาพดินและน้ำในพื้นที่ไปพร้อมกัน

ที่ห้องประชุม ธ.ก.ส.ภาคเหนือ อ.เมืองเชียงใหม่ นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร นายศรายุทธ ยิ้มยวน ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยการขับเคลื่อนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืนเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหารและปกป้องพื้นที่ป่าต้นน้ำ ระหว่างบริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) มทร.ล้านนา และ ธ.ก.ส.

นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า อำเภอแม่แจ่ม เป็นแหล่งปลูกข้าวโพดแหล่งใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ ที่ผ่านมามีทั้งปัญหาด้านการใช้สารเคมี ทำให้ดินเสื่อมสภาพ เมื่อมีน้ำไหลผ่านมาก็เอาสารเคมีลงแม่น้ำปิง หลังเก็บเกี่ยวก็จะเผาทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน มีการบุกรุกป่าทำไร่ข้าวโพด ปัญหานี้พบมานานมาก จึงนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้

เพื่อเข้าไปดำเนินการศึกษาปัญหาเหล่านี้ และเข้าไปช่วยเหลือสนับสนุนให้มีการยกเลิกการปลูกข้าวโพดและหันมาปลูกพืชผัก ผลไม้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ รวมถึงนำพื้นที่ดินที่ถูกบุกรุกกลับคืนมา และให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมกันปลูกป่าคืนกลับไป รวมถึงจะได้รับการพักชำระหนี้ทั้งหมด 7 ปี โดยให้ประชาชนหันมาปลูกพืช ผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ ซึ่งทางบริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ได้เข้าไปพบกับชาวบ้าน และจะรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากผู้เข้าร่วมโครงการ

โดยทาง ธ.ก.ส.จะเป็นผู้สนับสนุนเงินกองทุนในการกู้ยืมให้กับเกษตรกร ซึ่งวางกรอบวงเงินไว้ประมาณ 50 ล้านบาท ทั้งลูกค้าเดิมและกลุ่มลูกค้าใหม่ ด้านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ก็เข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้กับเกษตรกร เข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำและความเป็นอยู่ให้ด้วย พร้อมเน้นย้ำให้เกษตรกรปลูกพืชแบบเกษตรอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อฟื้นฟูสภาพดิน และแหล่งต้นน้ำ