การเมือง-การปกครอง » ทีมสถาบันพระปกเกล้า ลงพื้นที่ประเมิน-พิจารณานวัตกรรมผู้สูงอายุ-ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลป่าแดด

ทีมสถาบันพระปกเกล้า ลงพื้นที่ประเมิน-พิจารณานวัตกรรมผู้สูงอายุ-ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลป่าแดด

28 กันยายน 2020
517   0

Social Share

ทีมสถาบันพระปกเกล้า ลงพื้นที่ประเมิน-พิจารณานวัตกรรมผู้สูงอายุ-ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลป่าแดด

ที่เทศบาลตำบลป่าแดด อ.เมือง จ.เชียงใหม่พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาลสถาบันพระปกเกล้า รับฟังบรรยายสรุป และคณะกรรมการซักถามเกี่ยวกับการดำเนินโครงการและกิจกรรมในด้านการเสริมสร้างเครือข่ายรัฐ เอกชน และประชาสังคม เพื่อพิจารณารางวัลพระปกเกล้าทองคำ พร้อมลงพื้นที่พิจารณานวัตกรรมของโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลป่าแดด มีนายพิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม นายพรชัย ปุณณวัฒนาพร น.ส.วิลาวัลย์ หงส์นคร นักวิชาการผู้ชำนาญการ สถาบันพระปกเกล้า

ทั้งนี้มีนายรุ่งปรีชา ปั๋นแก้ว นายกเทศมนตรีตำบลป่าแดด นายวีระชัยไชยมงคล กำนันตำบลป่าแดด พระครูอธิการวุฒิพงษ์ วุฒิญาโณ เจ้าอาวาสวัดดอนชัย พร้อมเครือข่ายผู้สูงอายุ และเด็ก ร่วมให้ข้อมูลและชี้แจงดังกล่าว ก่อน พล.อ.เอกชัย และคณะ เยี่ยมชมการสาธิตนวดแผนโบราณเพื่อคลายกล้ามเนื้อ กิจกรรมตัดตุง โคม พร้อมทำดอกไม้สดประดิษฐ์ของกลุ่มนักเรียน ด้วยความสนใจและสอบถามเป็นระยะ

นายพิรียุตม์ วรรณพฤกษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ประชากรตำบลป่าแดดมีกว่า 17,000 คน เป็นผู้สูงอายุ 3,000 คน หรือคิดเป็น 18 % ของประชากร ในอนาคตอาจเพิ่มเป็น 20 % เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ดังนั้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอีก 3-5 ปีข้างหน้า ต้องสอดคล้องสังคมดังกล่าว เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพ และการดูแลสุขภาพ ไม่เพียงแต่สร้างศูนย์ผู้สูงอายุเท่านั้น ควรสร้างเมืองผู้สูงวัยแทน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีกว่าเดิม ที่สำคัญต้องมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เพื่อสร้างงานและรายได้แก่ชุมชนเพื่อดูแลผู้สูงอายุ และเด็กเล็กด้วย

นายพรชัย ปุณณวัฒนาพร กล่าวเสริมว่าถือเป็นความท้าทายสังคมเมืองมีความเจริญหลั่งไหลเข้ามา ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมซึ่งเทศบาลมีโครงการพัฒนาคลองแม่ข่า ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายและต้องขยายเครือข่ายความร่วมมือมากขึ้น ส่วนกิจกรรมผู้สูงอายุและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ที่มีเครือข่ายกว่า 20 หน่วยงาน ต้องบูรณาการและให้มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงเกิดโควิด 19 มีการบริหารจัดการอย่างไร นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องประชากรแฝง การให้บริการสาธารณะ อาทิด้านโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข และพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน ทำอย่างไรให้กลุ่มดังกล่าวเข้าถึงบริการสาธารณะ เนื่องจากมีต่างด้าว และกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่บางส่วน ควรมีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติ เพื่อแก้ปัญหาและวางแผนระยะยาว พัฒนาเมืองให้น่าอยู่แบบยั่งยืน