สภากาชาดไทย ร่วมกับ เหล่ากาชาดแม่ฮ่องสอน ปล่อยคาราวาน”อาสาป๊ะย่าม ส่งนิทานถึงมือน้อง” เสริมทักษะการพูดอ่านเขียนภาษาไทย
วันที่ 2 กรกฎาคม 2568 เวลา 09.00 น. ที่โรงเรียนแม่สะเรียงบริพัตรศึกษา อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร กรรมการสภากาชาดไทย ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานทางวิชาการแก้ไขปัญหา การสอนเสริมภาษาไทยของสภากาชาดไทย ในโอกาสเป็นประธานพิธีเปิด “โครงการอาสาป๊ะย่ามส่งนิทานถึงมือน้อง” ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย พร้อมด้วย นายกฤษฎา บุญราช ผู้ช่วยเลขาธิการสภากาชาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกิจการเหล่ากาชาด และคณะฯ โดยมี นางชฎานุช มีเพียร นายกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อม นายเอกวิทย์ มีเพียร ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน นายวรศักดิ์ พานทอง นายอำเภอแม่สะเรียง , นางพิทยา พานทอง นายกกิ่งกาชาดอำเภอแม่สะเรียง ว่าที่ร้อยตรีวิทยา โปทาศรี นายอำเภอแม่ลาน้อย , นายจรูญ จินะกัณฑ์ ปลัดอาวุโสอำเภอสบเมย ดร.กัญญาพัชร พงษ์ดี รอง ผอ.สพป.แม่ฮ่องสอน เขต 2 สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัดแม่ฮ่องสอน และ หัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ
โครงการส่งเสริมและพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย เป็นการสนองพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย เพื่อแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียน และเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ให้มีความรู้เพิ่มเติมจากการเรียนในห้องเรียน ซึ่งจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีโรงเรียนเป้าหมาย 34 โรงเรียน มีนักเรียนชั้น ป.1- ป.6 จำนวน 2,229 คน ในจำนวนนี้มีนักเรียนที่อ่านเขียนภาษาไทยไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน จำนวน 81 คน ซึ่งด้วยข้อจำกัดในเรื่องที่ตั้งของโรงเรียนที่มีความห่างไกลทุรกันดาร การคมนาคมไม่สะดวก โดยเฉพาะช่วงฤดูฝน ตลอดจนโรงเรียนบางแห่งไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต สัญญาณ Wi-Fi ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการจัดการเรียนการสอน ในปีการศึกษา 2568 จึงมีการต่อยอดขยายผลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนของเด็กนักเรียน โดยได้ดำเนินการจัดหนังสือนิทานสำหรับเด็กของโครงการหมุนเวียนในการนำไปใช้ประโยชน์ในกลุ่มโรงเรียนตลอดภาคการศึกษา
ภายในงานมีกิจกรรม การจัดนิทรรศการโครงการส่งเสริม และพัฒนาการพูด อ่าน เขียนภาษาไทย ของโรงเรียนเป้าหมาย การสาธิตการทำผ้าพื้นเมืองหุ้มปกสมุดบันทึก การจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมของนักเรียน การแสดงของเด็กชาติพันธุ์ วงดนตรีพื้นบ้านของนักเรียนในพื้นที่ และการจัดกิจกรรมปล่อยขบวนคาราวานของอาสาสมัครชาติพันธุ์
Cr. สุกัลยา / แม่ฮ่องสอน